ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การพัฒนาจริยธรรมข้าราชการให้ยั่งยืน


การพัฒนาจริยธรรมข้าราชการให้ยั่งยืน
นายสรรณ์ญา กระสังข์
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
                    สถานการณ์ของสังคมไทย ณ วันนี้ อยู่ในช่วงระยะเวลาที่ประชาชน มีความตื่นตัวที่จะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการทำงานของภาครัฐ มากขึ้นในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะสถานการณ์ในด้านการปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น อันเป็นเวลาของชาติ ที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพราะเป็นที่ทราบดีว่า การทุจริต คอรัปชั่นนั้น เป็นภัยร้ายแรง เป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ทั้งในมิติ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมประจำชาติ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต(CPI) ปี ๒๕๖๐ ประเทศไทยได้ ๓๗  คะแนน ลำดับดีขึ้นกว่าปีที่แล้วขยับจากลำดับที่ ๑๐๑ ขึ้นไปอยู่ที่ลำดับ ๙๖ จาก ๑๘๐ ประเทศทั่วโลก ผลจากปรากฏการณ์ดังกล่าว นับเป็นผลที่เกิดจากการทำงานรณรงค์สร้างการรับรู้ร่วมกันของประชาชน  โดยองค์กรผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในมิติการขับเคลื่อนโดยหน่วยงานภาครัฐ นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐  มาตรา ๒๗๙  กำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น  ในส่วนกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดข้อบังคับกรมการพัฒนาชุมชน ว่าด้วยจริยธรรมและจรรยาข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๙  เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกันของบุคลากรในสังกัด โดยพื้นฐานความเชื่อว่า ถ้าบุคลากรมีรากฐานทางจริยธรรมจรรยา ที่ดีงามแล้ว ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งที่จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ละเมิดระเบียบและตัวบทกฎหมายทั้งมวล และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ 


  
                   ตาม ข้อบังคับกรมการพัฒนาชุมชน ว่าด้วยจริยธรรมและจรรยาข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้นิยามความหมายดังนี้  จริยธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ  จรรยา หมายถึง กรอบมาตรฐานความประพฤติในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งในด้านการพัฒนา จริยธรรมข้าราชการให้ยั่งยืน นั้น มีแนวทางดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
(๑)   การสร้างการรับรู้ และพัฒนาจิตสำนึกข้าราชการ
                   ในมิตินี้ตัวข้าราชการ ต้องเป็นผู้ที่มีความตื่นรู้ และให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการ อย่างตรงไปตรงมา ไม่กระทำการเลี้ยงประมวลจริยธรรมนี้  ทั้งนี้กระบวนการสร้างการรับรู้และจิตสำนึกในระดับบุคล นั้น องค์กรหรือหน่วยงาน ต้องมีแผนงานในการรณรงค์สร้างกระแสให้เกิดความตื่นตัว ให้ถือเรื่อง จริยธรรมจรรยา เป็นวาระแห่งองค์กร  ที่บุคลากรทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน นับตั้งแต่ การยึดมั่นในกรอบการประพฤติปฏิบัติที่มีความถูกต้อง ตามกรอบมาตรฐานความประพฤติในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยบุคลากรต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว  โดยดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นหลักในการชี้ทางสว่าง ในการดำเนินชีวิต  เดินทางบนทางสายกลาง  ยึดหลักความพอดี พอเพียง พอประมาณ  ให้สามารถประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมกับ ฐานานุรูปของแต่ละบุคคล  นอกจากนั้น การประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก แกนกลางในการดำเนินชีวิต   เช่น การนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ได้แก่ หลักพรหมวิหาร ๔ หลักทศพิธราชธรรม เป็นต้น การวางตัวให้มีความเหมาะสม ไม่เป็นเจ้าขุนมูลนาย มีทัศนคติที่พร้อมทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน นอกจากนั้นควรมีการส่งเสริมให้ข้าราชการมีช่องทางในการพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อบอกกล่าว กระตุ้นเตือน ชักนำ ให้ข้อมูลข่าวสาร วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างบุคคลและองค์กรอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้เรื่องจริยธรรมของข้าราชการเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นศักดิ์ศรีของหน่วยงานที่จะรักษาจริยธรรมให้คงอยู่ในองค์กร และข้าราชการในองค์กรเป็นผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่เกี่ยวข้องการประพฤติปฏิบัติที่ขาดจริยธรรม อย่างถาวร



(๒)  การสร้างภาพลักษณ์องค์กร พัฒนาชุมชนใสสะอาด ปราศจากคอรัปชั่น
                   การพัฒนาจุดยืนขององค์กร ไปสู่ พัฒนาชุมชนใสสะอาด ปราศจากคอรัปชั่นเป็นวาระสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อพัฒนาและก้าวไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะก้าวไปสู่จุดยืนดังกล่าว นั้น  ต้องมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 
                             ๒.๑ การสร้างจุดยืนองค์กรร่วมกันทั่วทั้งองค์กร  
                             การที่จะพัฒนาองค์กรให้มีการขับเคลื่อนงานร่วมกัน นั้น  ต้องสร้างกระแสให้เกิดความตื่นตัว ตื่นรู้ และให้ความสำคัญของการสร้างการรับรู้งานแบบทั่วทั้งองค์กร  บุคลากรในทุกระดับ  มีความรู้ มีจิตสำนึก  มีการแสดงเจตจำนงร่วมกัน ในการที่จะประกาศจุดยืนองค์กรคุณธรรม  องค์กรแห่งการรักษาจริยธรรมจรรยา นับตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว  จนถึงระดับหน่วยงาน  ให้มีการประกาศเจตนารมณ์และแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน  ในทุกระดับ อย่างทั่วถึงอย่างชัดเจน   
                             ๒.๒ สร้างกระบวนการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ
                             กระบวนการในการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอย ๆ ทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมมาจากพื้นฐานการเรียนรู้ เมื่อการการเรียนรู้ เปิดใจเรียนรู้  ก็จะยกระดับไปสู่การเกิดผลลัพธ์ในเชิงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ องค์กรต้องมีการจัดทำและทบทวนสถานการณ์ในระยะที่ผ่านมา มีรูปแบบแนวทางในการขับเคลื่อนแผนงานจริยธรรมจรรยา ในองค์กรอย่างไร  มีผลการขับเคลื่อนอย่างไร  มีข้อจำกัดในด้านใด  และถ้าจะทำให้แผนงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร   
                             ทั้งนี้ในกระบวนการทบทวน แผนงานขององค์กร ต้องดำเนินงานในทุกระดับนับตั้งแต่ ระดับกรม ฯ  ระดับจังหวัด  และระดับอำเภอ  ซึ่งเป็นฐานรากสุดขององค์กร โดยให้เปิดให้มีเวทีการเรียนรู้แลกเปลี่ยน ข้อมูล ทัศนคติ ข้อจำกัด และวิเคราะห์ศักยภาพขององค์กร ปัจจัยแวดล้อม เพื่อกำหนดเป็น วิสัยทัศน์  พันธกิจ  และประเด็นยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนจริยธรรมจรรยาของ  ข้าราชการ แบบเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ จากระดับล่างสุดขององค์กร  และผลักดันให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร เป็นวัฒนธรรมร่วมในการทำงานของพัฒนากร  ในท้ายที่สุด 
                             ๒.๓ จากแผนงานสู่การสร้างต้นแบบ  
                             ความท้าทายประการหนึ่งของการทำงาน คือการขับเคลื่อนแผนงานอย่างไร ให้เกิดการปฏิบัติการจริง ในมิตินี้ก็เช่นกัน การที่จะเกิดชุดบทเรียนหรือประสบการณ์ในการขับเคลื่อนแผนงาน ต้องมีแนวทางในการส่งเสริม ให้บุคลากรในสังกัด มีแผนชีวิต หรือมีค่านิยมร่วมกันในทางการปฏิบัติอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม  โดยกระบวนการลงมือปฏิบัติของบุคลากรในหน่วยงาน เมื่อลงมือทำซ้ำๆ  ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมร่วมที่จะนำไปสู่  การเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่ติดตัวไปและส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่จากรุ่นสู่รุ่น  ทั้งนี้ ค่านิยมหรือวิถีปฏิบัติที่พึ่งประสงค์ คงได้แก่การปฏิบัติตาม ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และข้อบังคับกรมการพัฒนาชุมชน ในด้านจริยธรรมและจรรยาข้าราชการ อย่างเป็นปกติวิสัย  จนเกิดความเคยชิน  หากพิจารณาถึงเนื้อหา หรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของบุคลากรในหน่วยงาน  นั้น  มีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่  การยึดมั่นในความเป็นตัวแทนของกรมการพัฒนาชุมชน สร้างศรัทธาเชื่อมั่นต่อองค์กร และต่อประชาชน โดยคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพในสิทธิ เสรีภาพ ยึดหลักความเสมอภาค ให้เกียรติและมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความรับผิดชอบ โปร่งใสตรวจสอบได้   โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนั้น บุคลากร ต้องมุ่งเน้นในการพัฒนาตนเอง ให้มีระเบียบวินัยพึ่งตนเองได้ รู้รักสามัคคี มีจิตสาธารณะ และยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการยึดถือ และเป็นเข็มทิศชี้ทางในการดำเนินชีวิต ไม่ยุ่งเกี่ยวอบายมุขทุกประเภท และไม่ประพฤติผิดศีลธรรม ในมติด้านการจัดการองค์กร ข้าราชการพัฒนาชุมชนต้องเป็นที่พึ่งของผู้บังคับบัญชา ประชาชน และองค์กรชุมชน ด้วยความเป็นธรรม เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ โดยดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย



                             เมื่อมีการขับเคลื่อนไปสู่วิถีปฏิบัติแล้ว บุคลากรเกิดวัฒนธรรมองค์กรร่วมกันแล้ว จะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของกรมการพัฒนาชุมชน  ที่ออกไปสู่สาธารณะ นั้นเต็มไปด้วยความภาคภูมิ สง่างาม การปฏิบัติตนของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน จะสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่หน่วยงานอื่น ๆ  หรือประชาชนให้เกิดยอมรับ พัฒนากรคือศรัทธาที่เดินได้ เข้าไปนั่งอยู่ในใจของประชาชน  นำไปสู่การเป็นบุคคล หรือหน่วยงานต้นแบบ  ที่ประชาชนจะคิดถึงเป็นลำดับแรก สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ 
                   แนวทางที่เสนอเบื้องต้น ดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่มุ่งเน้นสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อระดับการพัฒนาระบบจริยธรรมและจรรยา ในองค์กรให้มีการขับเคลื่อนทั่วทั้งองค์กร  เกิดการรณรงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน นับตั้งฐานล่างสุดขององค์กร  เมื่อเกิดการขับเคลื่อนงานทั่วทั้งองคาพยพ ก็จะนำไปสู่การสร้างระบบการพัฒนาจริยธรรมและจรรยา  ของบุคลากรในหน่วยงาน จนเกิดเป็นค่านิยมร่วมที่ทุกคนให้ความสำคัญที่ต้องถือปฏิบัติร่วมกัน และในท้ายที่สุดชุดบทเรียนและประสบการณ์ร่วมกันนี้  จะหล่อหลอมกล่มเกลา และถ่ายทอดจากรุ่นสู่คนรุ่นใหม่ในองค์กร  จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของชาวพัฒนาชุมชน มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมาย  พัฒนาชุมชนใสสะอาด ปราศจากคอรัปชั่นต่อไป
   
 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คำกล่าวตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้

คำกล่าวรายงานในพิธีเปิด ตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ...................................... เรียน   นายธวัช   สุวรรณ    นายอำเภอห้วยทับทัน ประธานในพิธีเปิดตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ            ดิฉัน นางสุขใจ   จินดาพล    พัฒนาการอำเภอห้วยทับทัน   ในนามคณะกรรมการตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ     การจัดงานตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ให้ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน   เป็นประเทศพัฒนา ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุนในการประกอบอาชีพ   ประกอบกับนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่   ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐ ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาดชุมชน เพื่อให้เกษตรกรผู้มีรายได้ร้อยในชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการที่เดือนร้อนจากการไม่มีสถานที่จำหน่าย ได้ม

การทำนาโยน ครั้งแรกในชีวิต

วันนี้ มีสหายท่าน หนึ่ง ได้มา ไถ่ถาม ถึงกระบวนการทำนาโยน ว่าทำอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านเอง ก็สนใจอยากทดลอง ทำนา โยน บ้าง สิ่งนี้ จึงเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ ผม มีความรู้สึก อยากจัดระบบ ความรู้ เรื่องวิธีการทำนา โยน และขั้นตอน ต่าง ๆ ตามประสบการณ์ที่ผมเคยลงมือทำ  ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำนาโยนครั้งแรกในชีวิต มันอยู่ที่ใจอยู่ที่การตัดสินใจ ของเราว่ากล้า ที่จะลอง  สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่  และในกระบวนการตัดสินใจ ที่ว่านั้น  ระบบข้อมูล  นับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  ถ้าข้อมูลเพียงพอ  ก็  จะทำให้เราสบายใจ  และกล้าลงมือ   ทำ   จริงมั้ยครับ   สำหรับอุปกรณ์ในการทำนาโยน นั้น ประกอบด้วย   (๑) ถาดเพาะกล้านาโยน ซึ่งมีร้านจำหน่ายถาดเพาะกล้าชนิดนี้ ปกติ จะมีหลุมเพาะจำนวน  ๔๓๔  หลุม   (๒) ดินสำหรับเพาะกล้า  เป็นดินที่ร่อน ละเอียด ไม่จับเป็นก้อน ส่วนใหญ่ นิยมใช้ดินเหนียว เพราะจะช่วยให้ดินจับกันเป็นตุ้มดิน และนำกล้าออกจากถาด  ได้ง่าย   (๓) ปุ๋ยขี้วัว  ขี้ควาย  ที่ผ่านการร่อน  อย่างดี    (๔) พันธุ์ข้าว  ที่เราแช่น้ำ  บ่มไว้จน  รากงอก   ในขั้นตอน  นี้ การเตรียมกล้านาโยน  ส่วนใหญ่ 

ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง อัตลักษณ์ทางภูมิปัญญาของชุมชน

ในฐานะนักพัฒนา ที่คลุกคลีกับชุมชนหมู่บ้าน ตามเนื้องานที่ทำอยู่ หากให้กล่าวถึงหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นทางภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชน และอัตลักษณ์ชุมชนที่โดดเด่น แน่นอนว่า บ้านเมืองหลวงคือหนึ่งในหมู่บ้านที่มี ความครบถ้วน และโดดเด่น ผมทำงานร่วมกับชุมชนบ้านเมืองหลวงมาระยะหนึ่ง และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เข้ามาขับเคลื่อนกับแกนนำชุมชนที่นี่   ใครมาที่นี่อาจหลงเสน่ห์บ้านเมืองหลวง ได้ง่ายๆ บ้านเมืองหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความเป็นมา มีฐานะทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน   มีร่องรอยอารยธรรมโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น การมีคูคลองล้อมรอบชุมชน ตามแบบฉบับชุมชนโบราณ การมีหอระฆังที่ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คนในชุมชนมีความภาคภูมิใจร่วมกัน            การทอผ้าไหมก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้คนที่นี่ ได้สืบสานสืบทอดภูมิปัญญา การทอผ้าไหมจากรุ่นสู่รุ่น แต่ละครัวเรือน เริ่มกระบวนการตั้งแต่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงการได้เส้นไหมพื้นบ้านที่มี ที่มีคุณสมบัติแห่งความเงางามและนุ่มน่าสวมใส่ ผ่านกระบวนการผลิตที่ทอด้วยมือ ด้วยภูมิปัญญา กว่าจะได้ผืนผ้ามาสักผืน ผู้ทอต้องมีน้ำอดน้ำทน ทำงานด้