ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สรุปผลตลาดสัมมาชีพชุมชน



ตลาดสัมมาชีพชุมชน

ทำไมต้องทำตลาดสัมมาชีพ
          ในวาระที่ พวกเราร่วมกันขับเคลื่อนงานในพื้นที่ร่วมกัน เป็นเครือข่ายเป็นพี่น้องผองเพื่อนที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันมา เป็นกัลป์ญาณมิตรในแวดวงนักพัฒนา ปีนี้พวกเราจึงร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัย กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดศรีสะเกษ โดยพัฒนาโครงการชุดวิจัยการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ในพื้นที่อำเภอปรางค์กู่ และอำเภอห้วยทับทันจังหวัดศรีสะเกษ  รวมกันทั้งสิ้น    โครงการ/พื้นที่ ทางด้านอำเภอปรางค์กู่ จำนวน ๓ พื้นที่ และห้วยทับทัน    พื้นที่  โครงการนี้ จึงเน้น ที่การสร้างการเรียนรู้เพื่อให้ชุมชนเกิดการสร้างงานสร้างรายได้  ดังนั้นการกำเนิดตลาดสัมมาชีพชุมชน จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน  ตลาดสัมมาชีพจึงมีฐานะเป็นเครื่องมือหนึ่งของทีมวิจัยชุดสัมมาชีพที่จะเรียนรู้ด้วยกัน   ทำการตลาดด้วยกัน  ทำการผลิตด้วยกัน  ทำงานจัดการด้วยกันไป  ตลอดระยะเวลา  ๑๕  เดือนที่ทีมวิจัยได้รับทุนวิจัย นี้  

          อีกประการหนึ่ง ในขณะนี้รัฐบาล ได้มีมติคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ ขับเคลื่อนตลาดประชารัฐ อันหมายถึงตลาดการจำหน่ายสินค้า ของประชาชนทุกประเภท ทั้ง สินค้าเกษตร สินค้า โอทอป และสินค้าอื่น ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงตลาด  การเกิดขึ้นของตลาดสัมมาชีพจึงประจวบเหมาะกับการเกิดตลาดประชารัฐ  มีหลักการและวัตถุประสงค์มิได้ต่างกัน ดังนั้น การเดินทางในเรื่องนี้   จึงเป็นเสมือนหนึ่งการทดลอง หาแนวทางการสร้างรายได้ให้ประชาชน

จัดตลาดอย่างไร 
          การจัดตลาดสัมมาชีพเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐  ที่ผ่านมานั้น ทีมโครงการชุดวิจัยสัมมาชีพชุมชน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอห้วยทับทัน ได้บูรณาการกันทำงาน  โดยนำกลุ่มผู้ผลิตสินค้ามาพบกันเจอกัน คุยกัน  วางแผนการจัดการตลาดร่วมกัน กลุ่มผู้ผลิตสินค้าประกอบด้วย กลุ่มโอทอป กลุ่มหมู่บ้านสัมมาชีพ  กลุ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และโครงการชุดวิจัยสัมมาชีพ กำหนดจัดประชุมเมื่อวันที่ ๑๙  ตุลาคม ๒๕๖๐  ที่ศาลาประชาคมบ้านห้วยยาง มติที่ประชุม เห็นพ้องต้องกันให้มีการจัดตลาดนัดประชารัฐสัมมาชีพชุมชนขึ้น  ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐  ผนวกเข้ากับงานประเพณีลอยกระทง  ของวัดห้วยยาง ตำบลเมืองหลวง  ที่มีการดำเนินการอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ  


          นายสุข คำด้วง  ผู้ใหญ่บ้านห้วยยาง ตำบลเมืองหลวง ได้เล่าในที่ประชุมว่า ในเทศกาลลอยกระทงวัดห้วยยาง  ทุกๆปี จะมีคนมาร่วมงานจำนวนมาก เพราะมีกิจกรรมหลายกิจกรรม  นับตั้งแต่ ช่วงเช้า มีขบวนแห่กระทง มาจากศูนย์ศิลปาชีพอำเภอห้วยทับทัน ของพี่น้องประชาชนจาก ๑๔ หมู่บ้าน เข้าในบริเวณวัดห้วยยาง และภาคบ่ายมีเทศกาลแข่งขันเรือยาวที่ลำห้วยยาง ภาคค่ำเป็นประเพณีลอยกระทง จำหน่ายกระทง ที่บริเวณวัดห้วยยาง  ซึ่งถ้าจะจัดงานตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน  ก็จะประชาชนมาจับจ่ายใช้สอย และเกิดการสร้างรายได้ของคนในพื้นที่  ดังนั้น จึงมีมติให้จัดตลาดดังกล่าวขึ้น
          ด้านการจัดการตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน  นั้น ให้มีการกางเต็นท์ให้ประชาชน ที่มีความสนใจนำสินค้ามาวาง จำหน่าย จำนวน  ๘ หลัง  โดยนายมงคล  สุกใส  ผู้ใหญ่บ้านเตาเหล็ก รับผิดชอบด้านสถานที่ ในด้านการรวบรวมกลุ่มผู้จำหน่าย นั้น  มอบหมายให้  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอห้วยทับทัน เป็นผู้รับผิดชอบในการเป็นศูนย์กลางการประสานงาน  นอกจากนั้น กำหนดให้มีกิจกรรมในเวทีกลาง มีเครื่องเสียง และการแสดงเพื่อดึงดูดใจ ให้คนมา ซื้อสินค้า  โดยโครงการวิจัยชุดสัมมาชีพชุมชน ได้รับผิดชอบ จัดชุดการแสดงจำนวน    ชุด  ประกอบด้วย วงน้องท็อป บ้านห้วยยาง  ศิลปินทูลทองใจ ดวนใหญ่ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาห้วยทับทัน และวงดนตรีวงด่านช้างมิวสิค โดย นายนุกูลกิจ  ทวีชาติ นักวิจัยติดตามสนับสนุน โครงการชุดสัมมาชีพชุมชน 


บรรยากาศเป็นอย่างไร    
          บรรยากาศตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน เริ่มตั้งแต่เช้า มีพี่น้องนำสินค้ามาแสดงและจำหน่ายตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น. เป้นต้นมา สินค้าที่นำมาวาง มีหลากหลาย เช่น กลุ่ม OTOP สินค้าประเภทผ้าไหม มาจำหน่าย และมีกระเช้าเถาวัลย์จากกลุ่มโอทอป บ้านห้วยยาง ในกลุ่มหมู่บ้านสัมมาชีพชุมชน จะมีกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น  น้ำมะพร้าว มะพร้าว ข่าเหลือง กบ  เป็นต้น  กลุ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  จะนำสินค้า ประเภทอาหาร เช่น  ลูกชิ้นทอด และน้ำปั่นต่าง ๆ  ในกลุ่มวิจัยสัมมาชีพชุมชน ทีมห้วยยาง จำหน่าย  ส้มแช้ง กล้วยสุก  กล้วยปิ้ง แยมแก้วมังกร พันธุ์หมาก ผลไม้ดอง กระเป๋าผ้าไหม ไวน์จากแก้วมังกร และสัปะรด กลุ่มวิจัยหนองแวง  จำหน่าย  ต้นมะพร้าวกะทิ ต้นเตยหอม ทานตะวันเพาะ  และแจ่วบอง   ทีมวิจัยหนองเชียงทูนใต้  จำหน่ายพันธุ์กล้วย และเห็ดนางฟ้า นางรม  ทีมวิจัยบ้านโพธิ์สามัคคี นำผ้าไหม เห็ด  และพันธุ์พืช เช่นพริก  มะเขือ  มาวางจำหน่าย  ทีมหนองสะมอน  นำขนมจีน ส้มเขียวหวาน  มาจำหน่าย 
          บรรยากาศโดยรวม ถือว่ามีประชาชน มาเยี่ยมชมและซื้อหาสินค้า ตลาดนัดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. จนถึง  ๑๙.๐๐ น. คนมีมาเรื่อย ๆ  ก่อนที่ มหรสพจะเริ่มต้นขึ้น และตลาดจึงปิดตัวไป  


ยอดจำหน่ายเป็นอย่างไร  
          จากการที่ โครงการวิจัยชุดสัมมาชีพชุมชน ได้รวบรวมยอดจำหน่าย จากกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาขายในตลาดครั้งนี้  โดยการลงข้อมูลที่จำหน่ายได้ทั้งหมด  ส่งให้คณะผู้จัดงาน  พบว่า  มีผู้ส่งข้อมูล จำนวน  ๑๓ รายจำแนกเป็นยอดจำหน่าย ดังนี้
                   (๑)ร้านผาสุกฟาร์ม        ยอดจำหน่าย ๒๒๐        บาท
                    (๒)ร้านน้องเอ๋อั๋น          ยอดจำหน่าย ๗,๕๐๐      บาท
                    (๓)ร้านกล้วยมะละกอ     ยอดจำหน่าย ๗๕๐        บาท
                    (๔)แม่ราตรี ดวงนิล ผ้าไหมยอดจำหน่าย ๗,๐๐๐     บาท
                    (๕)คุณรัชดาพร โปร่งจิตร ยอดจำหน่าย  ๔,๖๕๐     บาท
                    (๖)บ้านนาทุ่ง               ยอดจำหน่าย  ๕๐๐       บาท
                    (๗)นางพรรณี ต้อไธสงค์   ยอดจำหน่าย     ๒,๑๐๐ บาท
                    (๘)บ้านมด                  ยอดจำหน่าย     ๔,๕๕๐  บาท
                    (๙)ทีมวิจัยหนองสะมอน ยอดจำหน่าย       ๖,๒๖๕   บาท
                    (๑๐)กระเช้าเถาวัลย์       ยอดจำหน่าย     ๑,๔๘๐   บาท
                    (๑๑)ทีมหนองแวง          ยอดจำหน่าย     ๗,๐๐๐   บาท
                    (๑๒)ทีมโพธิ์สามัคคี        ยอดจำหน่าย    ๑,๕๙๕    บาท
                    (๑๓)ทีมหนองเชียงทูน      ยอดจำหน่าย    ๗๒๐   บาท
                    รวมยอดจำหน่ายทั้งสิ้น    ๔๔,๕๓๐   บาท






ได้รับบทเรียนอะไร       
          การจำหน่ายสินค้า ของแต่ละพื้นที่นั้นพอขายได้ เพียงแต่ต้องวิเคราะห์ตลาดว่า  ในลักษณะตลาดแบบนี้ลูกค้าต้องการซื้ออะไร จะจัดตลาดแบบไหน  ช่วงไหน  ผู้ค้าที่นำสินค้าเกษตรมาจำหน่าย ก็พอได้จำหน่าย บ้าง  แต่อาจสู้สินค้า จำพวกการแปรรูป ไม่ได้ ดังนั้น  จึงเป็นบทเรียนร่วมกันของทีมวิจัย ที่จะต้องหาสินค้าที่มีความเหมาะสมกับความต้องการ การเกาะเกี่ยวกันเป็นทีมเพื่อไปเปิดตลาด ตามที่ต่าง ๆ  ก็น่าสนใจ อาจมีเวทีในการสรุปบทเรียนร่วมกัน ว่า  ในอนาคต  จะจัดตลาดร่วมกันอย่างไร  ให้ตลาดเป็นพื้นที่ สร้างรายได้  ให้แก่นักวิจัยตลอดระยะทางในการ ดำเนินงานวิจัย 




ภาคผนวก

คำกล่าวรายงานในพิธีเปิด
งานประเพณีลอยกระทงการแข่งขันแข่งเรือและตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน
วัดห้วยยาง ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
......................................
กราบนมัสการ พระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง
เรียนท่านผู้มีเกียรติและพ่อแม่พี่น้อง พุทธศาสนิกชนที่เคารพรักทั้งหลาย

เรียน  นายธวัช  สุวรรณ   นายอำเภอห้วยทับทัน ประธานในพิธี เปิด งานประเพณีลอยกระทงการแข่งขันแข่งเรือและตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน วัดห้วยยาง ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ

          กระผม  นายสุข คำด้วง ในนามคณะกรรมการ จัดงานประเพณีลอยกระทงการแข่งขันแข่งเรือและตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน วัดห้วยยาง ในครั้งนี้ การจัดงานประเพณีในครั้งนี้ เป็นการจัดงานตามงานประเพณีที่ดีงามของชุมชน ประเพณีประจำตำบลเมืองหลวง โดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วม ระหว่างคณะสงฆ์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน   ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงเรียน ในเขตตำบลเมืองหลวง  ซึ่งทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงาม จึงได้ร่วมกันประสานงาน และกำหนดจัดงานประเพณีนี้ขึ้น   และมอบหมายให้วัดห้วยยาง ดำเนินการจัดงานประเพณีงานประเพณีลอยกระทงการแข่งขันแข่งเรือและตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ดังนี้
          (๑)เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา ให้รู้ถึงคุณค่าของน้ำ แม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป้นในการดำรงชีวิต  และบูชารอยพระพุทธบาท และบูชาเทพเจ้า ตามคติความเชื่อของชุมชน
          (๒)เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน ให้มีการสืบทอดไปสู่ชนรุ่นหลัง 
          (๓)เพื่อทดลอง จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน ให้เกิดการสร้างรายได้ภายในชุมชน 

          การจัดกิจกรรมในครั้งนี้  ประกอบด้วย  ขบวนแห่กระทง จากหมู่บ้านในตำบลเมืองหลวงทั้ง ๑๔  หมู่บ้าน  การแข่งขันพานเรือประเพณีในลำห้วยยาง  การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจาก กลุ่มสัมมาชีพชุมชน  กลุ่ม สินค้าโอทอป  กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และพื้นที่โครงการวิจัยชุดสัมมาชีพชุมชน 














          การจัดงานในครั้งนี้  ได้รับงบประมาณสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองหลวง จำนวน  ๕๐,๐๐๐ บาท(ห้าหมื่นบ้านถ้วน) สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอห้วยทับทัน สนับสนุนในการจัดแสดงและจำหน่ายตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและประชาชน เป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณมา ณ  โอกาสนี้ 

          บัดนี้  ได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลแล้ว  กระผมขอเรียนเชิญท่านประธานได้กล่าวให้โอวาท พบปะพี่น้องประชาชน และกล่าวเปิดงาน ขอเรียนเชิญครับ 




คำกล่าวประธานในพิธี
งานประเพณีลอยกระทงการแข่งขันแข่งเรือและตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน
วัดห้วยยาง ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
...........................

 กราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่เคารพอย่างสูง
เรียน ท่านผู้มีเกียรติ และพี่น้องประชาชน ที่เคารพทุกท่าน

          กระผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ในครั้งนี้  จากคำกล่าวรายงานของท่านประธานจัดงานในครั้งนี้ ได้แสดงถึงเจตนารมณ์อันดี ของผู้นำทุกฝ่ายในชุมชนที่  จะร่วมกันอนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และถือปฏิบัติสืบทอดกันต่อไป  ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชุมชน ที่หมู่บ้านต้องให้ความสำคัญ และถือปฏิบัติร่วมกัน 

          กระผมขอขอบคุณคณะกรรมการทุกฝ่าย ที่ได้เสียสละกำลังกายกำลังความคิด และกำลังทรัพย์ ซึ่งแสดงถึงความสมัครสมานสามัคคี ของทุกคนในหมู่บ้าน ในชุมชนตำบลเมืองหลวง เพื่อให้การการจัดงาน ประเพณีลอยกระทงการแข่งขันแข่งเรือและตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน   วัดห้วยยาง ตำบลเมืองหลวง ในครั้งนี้  สำเร็จลุล่วงด้วยดี 

          บัดนี้ ได้เวลาอันอุดมมงคลแล้ว  กระผมขอเปิดงาน งานประเพณีลอยกระทงการแข่งขันแข่งเรือและตลาดประชารัฐสัมมาชีพชุมชน  วัดห้วยยาง ตำบลเมืองหลวง   ณ บัดนี้ 







ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คำกล่าวตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้

คำกล่าวรายงานในพิธีเปิด ตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ...................................... เรียน   นายธวัช   สุวรรณ    นายอำเภอห้วยทับทัน ประธานในพิธีเปิดตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ            ดิฉัน นางสุขใจ   จินดาพล    พัฒนาการอำเภอห้วยทับทัน   ในนามคณะกรรมการตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ     การจัดงานตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ให้ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน   เป็นประเทศพัฒนา ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุนในการประกอบอาชีพ   ประกอบกับนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่   ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐ ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาดชุมชน เพื่อให้เกษตรกรผู้มีรายได้ร้อยในชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการที่เดือนร้อนจากการไม่มีสถานที่จำหน่าย ได้ม

การทำนาโยน ครั้งแรกในชีวิต

วันนี้ มีสหายท่าน หนึ่ง ได้มา ไถ่ถาม ถึงกระบวนการทำนาโยน ว่าทำอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านเอง ก็สนใจอยากทดลอง ทำนา โยน บ้าง สิ่งนี้ จึงเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ ผม มีความรู้สึก อยากจัดระบบ ความรู้ เรื่องวิธีการทำนา โยน และขั้นตอน ต่าง ๆ ตามประสบการณ์ที่ผมเคยลงมือทำ  ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำนาโยนครั้งแรกในชีวิต มันอยู่ที่ใจอยู่ที่การตัดสินใจ ของเราว่ากล้า ที่จะลอง  สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่  และในกระบวนการตัดสินใจ ที่ว่านั้น  ระบบข้อมูล  นับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  ถ้าข้อมูลเพียงพอ  ก็  จะทำให้เราสบายใจ  และกล้าลงมือ   ทำ   จริงมั้ยครับ   สำหรับอุปกรณ์ในการทำนาโยน นั้น ประกอบด้วย   (๑) ถาดเพาะกล้านาโยน ซึ่งมีร้านจำหน่ายถาดเพาะกล้าชนิดนี้ ปกติ จะมีหลุมเพาะจำนวน  ๔๓๔  หลุม   (๒) ดินสำหรับเพาะกล้า  เป็นดินที่ร่อน ละเอียด ไม่จับเป็นก้อน ส่วนใหญ่ นิยมใช้ดินเหนียว เพราะจะช่วยให้ดินจับกันเป็นตุ้มดิน และนำกล้าออกจากถาด  ได้ง่าย   (๓) ปุ๋ยขี้วัว  ขี้ควาย  ที่ผ่านการร่อน  อย่างดี    (๔) พันธุ์ข้าว  ที่เราแช่น้ำ  บ่มไว้จน  รากงอก   ในขั้นตอน  นี้ การเตรียมกล้านาโยน  ส่วนใหญ่ 

ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง อัตลักษณ์ทางภูมิปัญญาของชุมชน

ในฐานะนักพัฒนา ที่คลุกคลีกับชุมชนหมู่บ้าน ตามเนื้องานที่ทำอยู่ หากให้กล่าวถึงหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นทางภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชน และอัตลักษณ์ชุมชนที่โดดเด่น แน่นอนว่า บ้านเมืองหลวงคือหนึ่งในหมู่บ้านที่มี ความครบถ้วน และโดดเด่น ผมทำงานร่วมกับชุมชนบ้านเมืองหลวงมาระยะหนึ่ง และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เข้ามาขับเคลื่อนกับแกนนำชุมชนที่นี่   ใครมาที่นี่อาจหลงเสน่ห์บ้านเมืองหลวง ได้ง่ายๆ บ้านเมืองหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความเป็นมา มีฐานะทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน   มีร่องรอยอารยธรรมโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น การมีคูคลองล้อมรอบชุมชน ตามแบบฉบับชุมชนโบราณ การมีหอระฆังที่ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คนในชุมชนมีความภาคภูมิใจร่วมกัน            การทอผ้าไหมก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้คนที่นี่ ได้สืบสานสืบทอดภูมิปัญญา การทอผ้าไหมจากรุ่นสู่รุ่น แต่ละครัวเรือน เริ่มกระบวนการตั้งแต่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงการได้เส้นไหมพื้นบ้านที่มี ที่มีคุณสมบัติแห่งความเงางามและนุ่มน่าสวมใส่ ผ่านกระบวนการผลิตที่ทอด้วยมือ ด้วยภูมิปัญญา กว่าจะได้ผืนผ้ามาสักผืน ผู้ทอต้องมีน้ำอดน้ำทน ทำงานด้