ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ภูมิปัญญาฝ่าวิกฤติ :การเพาะเห็ดฟางใต้ต้นยางพารา



          การเปลี่ยนแปลงของสภาพทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยเฉพาะราคาผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นที่พึ่งของเกษตรกรบ้านเรา ถ้าปีไหนราคาผลผลิตดีมีราคา ชีวิตเกษตรกร ก็มีความหวัง  มีผลกำไรได้นำเงินไปใช้สอย ไปลงทุน ไปชดใช้หนี้สิน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่เกษตรกรบ้านเรานิยมปลูก คงหนีไม่พ้น  ข้าว อ้อย ยางพารา หลังจากฤดูกาลทำนา บางแห่งก็นิยมปลูกมันสำปะหลัง บางทีก็เรียกว่า  มันซิ่ง ที่เรียกว่ามันซิ่งเพราะปลูกหลังนาอายุเพียง  ๓ เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิต ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ราคาผลผลิตตกต่ำอย่างต่อเนื่อง  นับตั้งแต่ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา  มีเพียงราคาอ้อย เท่านั้นที่ยืนระยะ รักษาราคาที่สมน้ำสมเนื้อให้เกษตรกร ได้ชื่นใจ เมื่อราคาผลผลิตราคาตกต่ำเช่นนี้ จึงได้เห็นภาพของเกษตรกรที่ต้องปรับเปลี่ยน กระบวนการผลิต ทั้งในแง่การลดต้นทุนการผลิต หรือการผลิตพืชชนิดอื่นให้มีความหลากหลายเพื่อประกันความเสี่ยงให้แก่ตัวเอง เพื่อสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน      


                   ในฉบับนี้ ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านไปพบกับชุมชนหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต พลิกจากวิกฤติด้านราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ไปสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ  ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างน่าสนใจ  นายสมบูรณ์ ทองเต็ม ผู้ใหญ่บ้านเกษตรสมบูรณ์ หมู่ที่ 9 ตำบลเขิน อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ   เล่าว่า ชุมชนแห่งนี้ ได้ร่วมกันการเพาะเห็ดฟางจากเปลือกมันสำปะหลังจะทำให้ได้เห็ดฟางดอกใหญ่  ทำได้ตลอดปี  ถือว่า เป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส   ในขณะที่ราคายางพาราตกต่ำ ได้เรียนรู้จากสื่อสังคมออนไลน์ มาปรับใช้ในการประกอบอาชีพในชุมชน  เริ่มต้นจาก เมื่อเดือนตุลาคม 2558  ชุมชนแห่งนี้ เริ่มมีทดลอง เพาะเห็ดฟาง ใต้ร่มไม้ยางพารา  ที่มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 100 ไร่ ผลจากการเพาะเห็ดฟางใต้ต้นยางพารานี้  สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชาวบ้านอย่างน่าอัศจรรย์  ซึ่งปกติการเพาะเห็ดฟางส่วนใหญ่จะเพาะกลางแจ้งและวัสดุที่ใช้กันเป็นหลักจะใช้ฟางข้าว   แต่ในปัจจุบันมีการนำวัสดุการเกษตรที่เหลือใช้เช่น   กากเปลือกมันสำปะหลังมาใช้  และได้ผลดี   เพราะเห็ดฟางที่เพาะได้ดอกโตและเก็บได้นาน และเห็ดฟางในโรงเรือนสามารถเพาะได้ตลอดปี    


          นายสมบูรณ์ ทองเต็ม ผู้ใหญ่บ้านเกษตรสมบูรณ์ ร่วมกับชาวบ้านได้ชวนกันเพาะเห็ดฟางสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ปัจจุบันมีโรงเรือนมากกว่า 10 โรง กำลังสร้างใหม่อีกมากกว่า 5 โรง  ในแต่ละวันเก็บได้ประมาณ 100-150 กิโลกรัม การจำหน่ายขายส่งกิโลกรัมละ 60 บาท และขายปลีกราคากิโลกรัมละ 70 บาท มีพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดอำเภอกันทรารมย์ และอำเภอกันทรลักษ์ มารับซื้อผลผลิตถึงสวน


                    วัสดุทีใช้เพาะ   ได้แก่  กากเปลือกมันสำปะหลังจากโรงงานแป้งมันเส้น ฟางข้าว  ขี้วัว แป้งข้าวเหนียว โมลาส จุลินทรีย์อีเอ็ม ภูไมท์ ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ,15-15-15 รำอ่อน อัตราส่วนกากเปลือกมันสำปะหลัง 1 ตันต่อวัสดุชนิดอื่นๆชนิดละ1กิโลกรัม หมักทิ้งไว้ 1 อาทิตย์

 
                         ทำความสะอาดโรงเรือนโดยการฉีดน้ำล้างโรงเรือนแล้วนำฟางวางไว้ตามชั้นให้มีความหนาประมาณ 10 ซม.และนำวัสดุที่หมักครบ7 วันไปวางไว้ความหนาประมาณ 10 ซม. แล้วรดน้ำ ใช้ผ้ายางปิดไว้ 1-2 วัน ห้ามเปิด  ใช้เตาอบไอน้ำท่อยัดไอน้ำเข้าไป 3 ซม.  ความร้อน 60 -70 องศาเซลเซียส  เป็นการเชื้อโรคตาย  3 วันวันที่ 4 ปล่อยให้อากาศถ่ายเทแล้วจึงหว่านเชื้อเห็ดฟางบนชั้น  หลังจากนั้น  3 วันรดน้ำ เปิดช่องลมไว้อีก 3 วัน   จึงจะเริ่มเห็นเห็ดเป็นตุ่มๆหลังจากนั้น 7 วันสามารถเก็บเห็ดไปจำหน่ายได้สามารถเก็บเห็ดได้นาน 7-15 วันหลังจากเก็บครั้งแรก 1  โรงเรือนเก็บได้ประมาณ  150-230 กิโลกรัม/โรง/วัสดุ 3 ตัน  รายได้เฉลี่ยเดือนละ40,000-50,000  บาท  ต้นทุนการผลิตอยู่ประมาณ   25,000  บาท   โรงเรือนสร้าง 1 ครั้งสามารถอยู่ได้นาน 3 ปีต้นทุนต่อโรงเรือน 15,000  บาท   การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร  การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนสามารถทำได้ตลอดปี แต่ในฤดูร้อนต้องใช้พัดลมช่วยในการระบายอากาศ


                   การปรับเปลี่ยนของชาวบ้านเกษตรสมบูรณ์ นับเป็นรูปแบบหนึ่งที่มีการปรับตัวให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปรับตัวของเกษตรกรยุคใหม่ ที่สามารถใช้สื่อออนไลน์ เช่น Facebook , YouTube  มาใช้แสวงหาองค์ความรู้ แล้วนำองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ให้ครัวเรือนอย่างน่าสนใจ  สำหรับท่านมีความสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดต่อที่    นายสมบูรณ์ ทองเต็ม ผู้ใหญ่บ้านเกษตรสมบูรณ์ เบอร์โทรศัพท์   ๐๘๓๑๐๐๙๖๑๔  หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://kasetsomboon.blogspot.com ครับ 








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คำกล่าวตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้

คำกล่าวรายงานในพิธีเปิด ตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ...................................... เรียน   นายธวัช   สุวรรณ    นายอำเภอห้วยทับทัน ประธานในพิธีเปิดตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ            ดิฉัน นางสุขใจ   จินดาพล    พัฒนาการอำเภอห้วยทับทัน   ในนามคณะกรรมการตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ     การจัดงานตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ให้ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน   เป็นประเทศพัฒนา ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุนในการประกอบอาชีพ   ประกอบกับนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่   ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐ ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาดชุมชน เพื่อให้เกษตรกรผู้มีรายได้ร้อยในชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการที่เดือนร้อนจากการไม่มีสถานที่จำหน่าย ได้ม

การทำนาโยน ครั้งแรกในชีวิต

วันนี้ มีสหายท่าน หนึ่ง ได้มา ไถ่ถาม ถึงกระบวนการทำนาโยน ว่าทำอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านเอง ก็สนใจอยากทดลอง ทำนา โยน บ้าง สิ่งนี้ จึงเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ ผม มีความรู้สึก อยากจัดระบบ ความรู้ เรื่องวิธีการทำนา โยน และขั้นตอน ต่าง ๆ ตามประสบการณ์ที่ผมเคยลงมือทำ  ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำนาโยนครั้งแรกในชีวิต มันอยู่ที่ใจอยู่ที่การตัดสินใจ ของเราว่ากล้า ที่จะลอง  สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่  และในกระบวนการตัดสินใจ ที่ว่านั้น  ระบบข้อมูล  นับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  ถ้าข้อมูลเพียงพอ  ก็  จะทำให้เราสบายใจ  และกล้าลงมือ   ทำ   จริงมั้ยครับ   สำหรับอุปกรณ์ในการทำนาโยน นั้น ประกอบด้วย   (๑) ถาดเพาะกล้านาโยน ซึ่งมีร้านจำหน่ายถาดเพาะกล้าชนิดนี้ ปกติ จะมีหลุมเพาะจำนวน  ๔๓๔  หลุม   (๒) ดินสำหรับเพาะกล้า  เป็นดินที่ร่อน ละเอียด ไม่จับเป็นก้อน ส่วนใหญ่ นิยมใช้ดินเหนียว เพราะจะช่วยให้ดินจับกันเป็นตุ้มดิน และนำกล้าออกจากถาด  ได้ง่าย   (๓) ปุ๋ยขี้วัว  ขี้ควาย  ที่ผ่านการร่อน  อย่างดี    (๔) พันธุ์ข้าว  ที่เราแช่น้ำ  บ่มไว้จน  รากงอก   ในขั้นตอน  นี้ การเตรียมกล้านาโยน  ส่วนใหญ่ 

ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง อัตลักษณ์ทางภูมิปัญญาของชุมชน

ในฐานะนักพัฒนา ที่คลุกคลีกับชุมชนหมู่บ้าน ตามเนื้องานที่ทำอยู่ หากให้กล่าวถึงหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นทางภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชน และอัตลักษณ์ชุมชนที่โดดเด่น แน่นอนว่า บ้านเมืองหลวงคือหนึ่งในหมู่บ้านที่มี ความครบถ้วน และโดดเด่น ผมทำงานร่วมกับชุมชนบ้านเมืองหลวงมาระยะหนึ่ง และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เข้ามาขับเคลื่อนกับแกนนำชุมชนที่นี่   ใครมาที่นี่อาจหลงเสน่ห์บ้านเมืองหลวง ได้ง่ายๆ บ้านเมืองหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความเป็นมา มีฐานะทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน   มีร่องรอยอารยธรรมโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น การมีคูคลองล้อมรอบชุมชน ตามแบบฉบับชุมชนโบราณ การมีหอระฆังที่ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คนในชุมชนมีความภาคภูมิใจร่วมกัน            การทอผ้าไหมก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้คนที่นี่ ได้สืบสานสืบทอดภูมิปัญญา การทอผ้าไหมจากรุ่นสู่รุ่น แต่ละครัวเรือน เริ่มกระบวนการตั้งแต่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงการได้เส้นไหมพื้นบ้านที่มี ที่มีคุณสมบัติแห่งความเงางามและนุ่มน่าสวมใส่ ผ่านกระบวนการผลิตที่ทอด้วยมือ ด้วยภูมิปัญญา กว่าจะได้ผืนผ้ามาสักผืน ผู้ทอต้องมีน้ำอดน้ำทน ทำงานด้