ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

งานบันดาลใจ : สุขใจได้ทำงานที่ใจรัก






                    การทำงานที่เรารักนั้นเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ผมเป็นคนหนึ่งที่โชคดีที่ได้ทำงานที่ตัวเองรักเป็นเวลานับ ๑ ทศวรรษแล้ว  ที่ผมได้ทำงานในหน้าที่ นักพัฒนาชุมชน สังกัดกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งมีภารกิจในด้านการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดีมีสุข  ถึงแม้ลักษณะงานที่ทำจะเป็นงานราชการ  แต่ก็เป็นเนื้อหาที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ในบทบาทผู้ส่งเสริม สนับสนุน เอื้ออำนวย  ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้  เพื่อการพึ่งตนเองของประชาชน ในตำบล หมู่บ้านเมื่อปี ๒๕๔๙  ผมได้รับการโยกย้ายมาทำงานที่อำเภอบ้านเกิด ซึ่งเป็นผลดีต่องานและชีวิตส่วนตัวมากยิ่งขึ้นผมลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์ปัญหาของ ตำบลหมู่บ้าน  ผ่านการสังเกต  สัมภาษณ์การ ประชุมกลุ่มย่อยในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการพบว่า สถานการณ์ปัญหาหนึ่ง ที่ชุมชนท้องถิ่นเผชิญอยู่เป็นปัญหาที่หนักหน่วง รุนแรง คือการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตข้าว  ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย คนไทยทุกคนต่างต้องกินข้าว  แต่ผู้ปลูกข้าวเองนั่นแหละ  ที่ได้ใส่สารพิษลงไปในเมล็ดข้าวของตัวเอง  นอกจากการฆ่าตัวเองให้ตายลงอย่างผ่อนส่ง  แล้วยังเป็นการทำลายผู้บริโภคในทางอ้อม  ในตำบลหมู่บ้าน พบว่า  สถานการณ์ด้านโรงภัยไข้เจ็บในชุมชน มีโรคภัยที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นปัจจัยกำหนด  มากขึ้น  ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรค   มะเร็ง  ความดันโลหิตสูง  และโรคจากปัจจัยเสี่ยงในเบื้องต้นมีมากขึ้นตามลำดับ  




                    สถานการณ์การใช้สารเคมีในนาข้าว มีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะวิธีคิดของคนในชุมชนที่มองว่าการทำนาข้าว  มีโอกาสทำเพียงปีละ ๑ ครั้ง  ต้องใช้โอกาสนี้ให้คุ้มค่า  กระบวนการผลิตจึงดำเนินไปบนฐานการผลิตแบบเกษตรกรรมเคมีเต็มรูปแบบ  นับตั้งแต่การใช้ปุ๋ยเคมีการใช้สารปราบศัตรูพืชและสารไล่แมลง   ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ตกค้างใน  ดิน   น้ำ   และแพร่กระจายไปส่งผลกระทบระบบนิเวศวิทยาของชุมชน   ทั้งระบบผิวดิน ผิวน้ำ  ในอากาศเต็มไปด้วยสารเคมีปนเปื้อน  พันธุ์พืช  พันธุ์สัตว์ที่เคยอุดมสมบูรณ์  เช่น ปู ปลา กุ้ง หอย  ผักพื้นบ้าน  ได้สูญหายไป เพราะสารเคมีทำลายระบบห่วงโซ่อาหารไปเสียหมดสิ้น   ผมคิดย้อนกลับไปถึงชีวิตในวัยเด็ก ที่ฐานทรัพยากร ดิน น้ำ   ป่า มีความอุดมสมบูรณ์วิถีชีวิตของผู้คนผูกพันธุ์ กับธรรมชาติ   อยากกินเห็ดในป่า  อยากกินปลาลงห้วยลงหนอง  คำกล่าวนี้ไม่ผิดเพี้ยนเลยภาพที่พี่น้องจับเสียม นำวัว ควาย  ไปผูก  ในตอนเช้าแล้วกลับบ้านมาพร้อมกับ  เห็ด  ผักพื้นบ้านและแมลงที่เป็นอาหาร   ระบบนิเวศวิทยาที่มีความสมบูรณ์ในอดีต  มาพร้อมกับแหล่งอาหาร   แหล่งพลังงานตลอดจนยารักษาโรคคืนกลับสู่ชุมชน



                    เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่หมู่บ้านของผมเอง  ข่าวคราวที่ผมไม่อยากได้ยินได้ผ่านเข้ามาในสามัญสำนึก  เมื่อญาติพี่น้องในหมู่บ้าน ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ  ในกลางดึกของคืนนั้น  รุ่งเช้าของวันหนึ่งจึงได้ทราบข่าวการนอนไหลตาย อย่างกะทันหัน  โดยที่ไม่มีโอกาสได้บอกกล่าวผู้อยู่ข้างหลัง  ญาติพี่น้องทุกคนต่างโศกเศร้าเสียใจ  และเข้าใจได้ว่านั่นคือผลกระทบจากพิษร้ายของสารเคมี  เพราะเขามีอาชีพรับจ้างฉีดพ่นสารเคมีในไร่นา   ทำหน้าที่นี้มาหลายปี  จนกระทั่งมาสิ้นชีวิตลง   เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้ผมฉุกคิดวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาเรื่องสารเคมีในไร่นาว่า  เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่ปัญหาเล็กอีกต่อไป  จากการสนทนากลุ่มย่อย  ปรับทุกข์กับพี่น้องในตำบล หมู่บ้านที่รับผิดชอบ   ผมและพี่น้องต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันและเป็นการตั้งปณิธานที่แน่วแน่ว่า  ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวที่ปลอดสารพิษ  อาหารที่มีความปลอดภัยไว้กินไว้ใช้เองในครอบครัว    ผมและทีมงานมีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากนาทีมีไปสู่นาอินทรีย์    ถึงแม้หนทางข้างหน้าจะยากลำบากปานใด แต่ทุกคนก็มีเจตนารมณ์  ที่จะทำความฝันให้บังเกิดขึ้นเป็นความจริง  ที่จะทำให้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง





                   ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖  พวกเราได้เสนอโครงการเพื่อขอรับเงินทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น  เพื่อขับเคลื่อนโครงการการจัดการความรู้เพื่อการพึ่งตนเองชาวกูยตำบลตูม  อำเภอปรางค์กู่   จังหวัดศรีสะเกษ  โดยได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการตามโครงการ  ซึ่งเป็นพลังอย่างหนึ่งที่   ช่วยขับเคลื่อนและกำกับทิศทางการเดินของเราไปสู่ความฝันที่ตั้งใจ   ในสมัยอดีตเท่าที่จำความได้รุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา   ทำนาโดยใช้แรงงานสัตว์การทำนาในยุคนั้นไม่มีใครเลยที่ใช้ปุ๋ยเคมี  หรือสารปราบศัตรูพืชและสารไล่แมลง    แต่ก็มีข้าวเพียงพอสำหรับกินในครอบครัว  และมีข้าวเหลือขายสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวข้าวในมิติวัฒนธรรมชุมชน เป็นระบบความเชื่อที่งดงาม  มีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวมากมาย ข้าวคือแม่โพสพ ดิน คือแม่ธรณี  น้ำ คือ พระแม่คงคา แม่ทั้ง ๓  แม่ นี้เองที่ช่วยดลบันดาลให้ชีวิตของผู้คนอยู่ดีมีสุข มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยหล่อเลี้ยง ให้คนเรามีชีวิตอยู่รอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน คนมีวิถีคิดที่ผูกพันธุ์กับธรรมชาติ ด้วยระบบความเชื่อและวัฒนธรรมดังกล่าว พวกเรา จึงปฏิบัติต่อพระแม่ทั้ง ๓  ด้วยความนบน้อม ละมุมละม่อม เคารพธรรมชาติ เพราะธรรมชาติให้ทุกสิ่งแก่มนุษย์  



                   จากการทบทวนบทเรียนในอดีตร่วมกัน ทำให้พวกเรามีความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่า  วิถีการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรกรรมปลอดสารพิษ มิไช่เรื่องใหม่เลย หากเป็นวิถีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษ ทำต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่ละเลยและตกหล่นไปบนยุคสมัยและกระแสความเปลี่ยนแปลง 

         

                   ดังนั้น พวกเราจึงร่วมกัน  จัดตั้งโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสู่แนวทางเกษตรอินทรีย์   เป็นแนวทางที่พวกเราทดลองทำด้วยรับสมัครสมาชิกในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน  และใช้ต้นข้าวเป็นครู  เรียนรู้จักต้นข้าว   ตั้งแต่การปักดำต้นข้าว  การจัดเก็บข้อมูลจากต้นข้าวการ   ปรับปรุงบำรุงดิน  เรียนรู้ทุกระยะของการเจริญเติบโต จนถึงการเก็บเกี่ยวข้าว  การให้ความรู้ในด้านการจัดการข้าวในนาและการศึกษาระบบนิเวศวิทยาแปลงนา  เสริมความรู้เรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์  การผลิตปุ๋ยเบญจคุณ  การทำน้ำหมักชีวภาพและการทำสารบำรุงเรียนสูตรต่างๆ  ในการขับเคลื่อนครั้งนี้เราและทีมงานได้รับการตอบรับจากสมาชิกในชุมชนเป็นอย่างดีมีสมาชิกร่วมเรียนรู้ด้วยกันจำนวน ๖๐ คน  ทุกคนมีความปรารถนาที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากเกษตรเคมี สู่เกษตรอินทรีย์  ทุกคนมีแปลงทดลองการผลิตข้าวอินทรีย์คนละ ๑  แปลง  อย่างน้อยคนละ ๑ ไร่เพื่อศึกษาเชิงเปรียบเทียบ  ถึงผลที่จะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตทั้ง   ๒ แบบ  กระบวนการปรับปรุงบำรุงดิน  เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ   ทางกลุ่มได้มีการรณรงค์สร้างกระแสจัดตั้งกองทุนปุ๋ยพืชสดนำ   เมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าพืชตระกูลถั่ว   ที่สามารถบำรุงดินให้ดีขึ้นมาปลูก  ส่งผลให้สมาชิกตื่นตัวในการปรับปรุงบำรุงดินและมีข้อค้นพบว่าการปลูกถั่วพร้าส่งผลดีต่อดินเป็นอย่างมาก



                   นางสาวสมถวิล ทวีชาติ สมาชิกโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ได้ปลูกถั่วพร้า ปีนี้เป็นปีที่ ๒ ตามแนวทางที่กลุ่มกำหนด เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งทุก ๆ ปี จะมีการไถกลบต่อซังข้าว แต่ปีนี้ มีทั้งไถกลบตอซังข้าว และการปลูกถั่วพร้าบำรุงดินด้วย ผลจากการปลูกถั่วพร้า พบว่า ทำให้สภาพดินร่วนซุยมีอินทรีย์วัตถุในดินเพิ่มขึ้น และในปีการผลิตที่ผ่านมา ทดลองการทำนาอินทรีย์เป็นปีที่ ๒ ผลปรากฏว่าสามารถลดรายจ่าย จากปุ๋ยเคมีโดยมิได้ใส่ปุ๋ยเคมีเลย  แต่ผลผลิตจากการทำนาในปีนี้ ได้เท่าเดิมกับตอนที่ทำนาแบบเคมี  คงเป็นผลส่วนหนึ่งจากการ  ปรับปรุงบำรุงดินด้วยการปลูกถั่วพร้า  นั่นเอง



          ในส่วนตัวของผมเอง ถึงแม้จะเป็นนักพัฒนาชุมชนต้องยอมรับว่า  สถานะของเราไม่ได้แตกต่างจากพี่น้องประชาชนเลย   เราเดินบนผืนดินผืนเดียวกัน   ใช้แม่น้ำร่วมสายกัน   หากระบบนิเวศวิทยาคมชุมชนย่ำแย่ลง  เราจะอยู่กันได้อย่างไร    ผมนึกถึงอาจารย์ทางการพัฒนาชุมชนท่านกล่าวไว้ว่า  จะพัฒนาใครเขาให้เริ่มต้นที่เราก่อน   ผมจึงตัดสินใจแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เคยทำงานเคมีเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นนาอินทรีย์จำนวน ๓ ไร่   ผมเลือกการทำนาโดยวิธีนาโยนเตรียมเพาะพันธุ์ข้าวใส่ถาดเตรียมดิน   แล้วนำต้นกล้าข้าวประโยชน์ลงแปลง   นาโยนเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชนของเรา   ผมชักชวนสมาชิกมาเรียนรู้การโยนข้าวซึ่งเป็นแนวทางแห่งการลดต้นทุนการผลิต   ทั้งเมล็ดพันธุ์   และต้นทุนด้านปุ๋ยบำรุงข้าว   กระบวนการทำนาโยนทำให้ต้นข้าวมีระยะห่างที่เหมาะสม  เพราะต้นข้าวมีระยะห่างกันไม่แย่งอาหารกัน



          การทำข้าวแบบโยนกล้าจึงเป็นเรื่องหนึ่งของสมาชิกโรงเรียนเกษตรอินทรีย์  ที่เราร่วมกันตั้งขึ้นมา ทั้งนี้แนวทางการเรียนรู้จากต้นข้าวที่เราใช้นั้น  สร้างความตื่นตัวให้สมาชิกเพราะเกิดการเรียนรู้ เกิดการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต   เริ่มมีความมั่นใจแล้วว่าการทํานาอินทรีย์   นั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่เป็นแนวทางที่เราปฏิบัติได้ไม่ยากเย็นนัก    วันนี้เส้นทางแห่งความฝันและการลงมือทำของเราบังเกิดผลขึ้น  แม้เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ   แต่พวกเราก็ภาคภูมิใจที่ได้ทำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น    ทุกคนมีข้าวที่ปลอดสารพิษไว้บริโภคในครอบครัว    พวกเราได้กินข้าวจากหยาดเหงื่อแรงงานของตนเอง  ชนิดว่ามีความมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์   ว่าข้าวนั้นปลอดสารพิษ   จากความคิด   ความหวัง  ความเชื่อ  ความศรัทธาแปลงสู่การลงมือทำที่ก่อให้เกิดความสุขในหัวใจ   ของพวกเรา     ผมจะเรียกพี่น้องร่วมอุดมการณ์ของผมว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงผู้ที่กล้าปรับเปลี่ยน  ทัศนคติ    ความเชื่อ  เปิดใจรับสิ่งใหม่เข้ามาในชีวิต    ในฐานะนักพัฒนานี่เป็นงานหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิต   คนทำงานอย่างผมอย่างแท้จริง   จากเดิมที่เล่นบทนักพัฒนาจากภายนอก  ทำหน้าที่หนุนเสริมเชิงวิชาการ  เอื้ออำนวยการเรียนรู้   ให้ข้อเสนอแนะแนะนำให้ผู้อื่นลงมือทำ   แต่งานนี้ผมได้ลงมือทำด้วยตัวเองอย่างจริงจัง  ลงมือปฏิบัติด้วยเรียนรู้ไปด้วย    พัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองไปด้วย   เมื่อผลออกมาเป็นผลดีชุมชนท้องถิ่น   สังคมโดยรวม  ณ วันนี้  คืองานบันดาลใจของผม   งานที่ทำเพื่อตนเอง   เพื่อชุมชน   เพื่อการเปลี่ยนแปลง  ระบบนิเวศวิทยาและการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นโลกใบนี้  เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินตามเจตนา   ของนักพัฒนาเพื่อประชาชน   แม้จะเป็นเรื่องราวเล็ก ๆ แต่ก็สุขใจ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คำกล่าวตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้

คำกล่าวรายงานในพิธีเปิด ตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ...................................... เรียน   นายธวัช   สุวรรณ    นายอำเภอห้วยทับทัน ประธานในพิธีเปิดตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ            ดิฉัน นางสุขใจ   จินดาพล    พัฒนาการอำเภอห้วยทับทัน   ในนามคณะกรรมการตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ     การจัดงานตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ให้ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน   เป็นประเทศพัฒนา ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุนในการประกอบอาชีพ   ประกอบกับนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่   ๑๙ กันยายน ๒๕๖๐ ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาดชุมชน เพื่อให้เกษตรกรผู้มีรายได้ร้อยในชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการที่เดือนร้อนจากการไม่มีสถานที่จำหน่าย ได้ม

การทำนาโยน ครั้งแรกในชีวิต

วันนี้ มีสหายท่าน หนึ่ง ได้มา ไถ่ถาม ถึงกระบวนการทำนาโยน ว่าทำอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านเอง ก็สนใจอยากทดลอง ทำนา โยน บ้าง สิ่งนี้ จึงเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ ผม มีความรู้สึก อยากจัดระบบ ความรู้ เรื่องวิธีการทำนา โยน และขั้นตอน ต่าง ๆ ตามประสบการณ์ที่ผมเคยลงมือทำ  ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำนาโยนครั้งแรกในชีวิต มันอยู่ที่ใจอยู่ที่การตัดสินใจ ของเราว่ากล้า ที่จะลอง  สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่  และในกระบวนการตัดสินใจ ที่ว่านั้น  ระบบข้อมูล  นับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  ถ้าข้อมูลเพียงพอ  ก็  จะทำให้เราสบายใจ  และกล้าลงมือ   ทำ   จริงมั้ยครับ   สำหรับอุปกรณ์ในการทำนาโยน นั้น ประกอบด้วย   (๑) ถาดเพาะกล้านาโยน ซึ่งมีร้านจำหน่ายถาดเพาะกล้าชนิดนี้ ปกติ จะมีหลุมเพาะจำนวน  ๔๓๔  หลุม   (๒) ดินสำหรับเพาะกล้า  เป็นดินที่ร่อน ละเอียด ไม่จับเป็นก้อน ส่วนใหญ่ นิยมใช้ดินเหนียว เพราะจะช่วยให้ดินจับกันเป็นตุ้มดิน และนำกล้าออกจากถาด  ได้ง่าย   (๓) ปุ๋ยขี้วัว  ขี้ควาย  ที่ผ่านการร่อน  อย่างดี    (๔) พันธุ์ข้าว  ที่เราแช่น้ำ  บ่มไว้จน  รากงอก   ในขั้นตอน  นี้ การเตรียมกล้านาโยน  ส่วนใหญ่ 

ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง อัตลักษณ์ทางภูมิปัญญาของชุมชน

ในฐานะนักพัฒนา ที่คลุกคลีกับชุมชนหมู่บ้าน ตามเนื้องานที่ทำอยู่ หากให้กล่าวถึงหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นทางภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชน และอัตลักษณ์ชุมชนที่โดดเด่น แน่นอนว่า บ้านเมืองหลวงคือหนึ่งในหมู่บ้านที่มี ความครบถ้วน และโดดเด่น ผมทำงานร่วมกับชุมชนบ้านเมืองหลวงมาระยะหนึ่ง และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เข้ามาขับเคลื่อนกับแกนนำชุมชนที่นี่   ใครมาที่นี่อาจหลงเสน่ห์บ้านเมืองหลวง ได้ง่ายๆ บ้านเมืองหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความเป็นมา มีฐานะทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน   มีร่องรอยอารยธรรมโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น การมีคูคลองล้อมรอบชุมชน ตามแบบฉบับชุมชนโบราณ การมีหอระฆังที่ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คนในชุมชนมีความภาคภูมิใจร่วมกัน            การทอผ้าไหมก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้คนที่นี่ ได้สืบสานสืบทอดภูมิปัญญา การทอผ้าไหมจากรุ่นสู่รุ่น แต่ละครัวเรือน เริ่มกระบวนการตั้งแต่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงการได้เส้นไหมพื้นบ้านที่มี ที่มีคุณสมบัติแห่งความเงางามและนุ่มน่าสวมใส่ ผ่านกระบวนการผลิตที่ทอด้วยมือ ด้วยภูมิปัญญา กว่าจะได้ผืนผ้ามาสักผืน ผู้ทอต้องมีน้ำอดน้ำทน ทำงานด้